.

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์ มูลนิธิโรงเรียนน่าอยู่เรียนรู้อย่างมีความสุขจังหวัดนครพนม พ.ศ.๒๕๕๒

 
 
 
 
 
  หน้าหลัก    ข้อบังคับมูลนิธิฯ 
ข้อบังคับมูลนิธิฯ
 

ข้อบังคับ
ของ
มูลนิธิโรงเรียนน่าอยู่เรียนรู้อย่างมีความสุขจังหวัดนครพนม พ.ศ.๒๕๕๒
----------------------------
หมวดที่ ๑
ชื่อเครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง
ข้อ ๑. มูลนิธินี้มีชื่อว่า มูลนิธิโรงเรียนน่าอยู่เรียนรู้อย่างมีความสุขจังหวัดนครพนม พ.ศ.๒๕๕๒
ย่อว่า ม.นคร. เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Good and Mastery Learning School Foundation. ย่อว่า GMLF.
ข้อ ๒. เครื่องหมายของมูลนิธิ คือ
มีความหมายว่า โรงเรียนคือบ้านแห่งที่ 2 ของเด็กนักเรียน และเด็กนักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข
ข้อ ๓. สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 333 ถนนอภิบาลบัญชา ตำบลในเมือง
อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ๔๘๐๐๐
หมวดที่ ๒
วัตถุประสงค์

ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ คือ
๔.๑ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนที่น่าอยู่ ครู ผู้บริหาร จัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีความสุข
๔.๒ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการจัดกิจกรรมแก่นักเรียนและเยาวชน
๔.๓ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
๔.๔ เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ และให้ความร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
๔.๕ ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
หมวดที่ ๓
ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

ข้อ ๕. ทรัพย์สินของมูลนิธิทุนเริ่มแรก คือ
๕.๑ เงินสด จำนวน ๗๑๕,๕๓๑.๙๓ บาท(เจ็ดแสนหนึ่งหมื่นห้าพันห้าร้อยสามสิบเอ็ดบาทเก้าสิบสามสตางค์)
๕.๒ ที่ดิน(ถ้ามี) โฉนด เลขที่........-................................
รวมเป็นราคาทรัพย์สินทั้งสิ้น ๗๑๕,๕๓๑.๙๓ บาท(เจ็ดแสนหนึ่งหมื่นห้าพันห้าร้อยสามสิบเอ็ดบาทเก้าสิบสามสตางค์)
ข้อ ๖. มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้
๖.๑ เงินหรือทรัพย์สินที่มียกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด
๖.๒ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
๖.๓ ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
๖.๔ รายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ
หมวดที่ ๔
คุณสมบัติและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ

ข้อ ๗. กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
๗.๑ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์
๗.๒ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
๗.๓ ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกเว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ข้อ ๘. กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
๘.๑ ถึงคราวออกตามวาระ
๘.๒ ตายหรือลาออก
๘.๓ ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับ ข้อ ๗
๘.๔ เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการมูลนิธิมีมติให้ออก โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการมูลนิธิ
หมวดที่ ๕
การดำเนินงานของคณะกรรมการของมูลนิธิ
ข้อ ๙. มูลนิธินี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิ มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕คน แต่ไม่เกิน ๑๕ คน
ข้อ ๑๐. คณะกรรมการของมูลนิธิ ประกอบด้วย ประธานกรรมการมูลนิธิ รองประธาน กรรมการมูลนิธิ เลขานุการมูลนิธิ เหรัญญิก และกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับข้อ ๙
ข้อ ๑๑. การแต่งตั้งกรรมการมูลนิธิให้ปฏิบัติดังนี้
ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ แต่งตั้งประธานกรรมการมูลนิธิและกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ
ข้อ ๑๒. กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี
ข้อ ๑๓. การแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเป็นมติของที่ประชุม
ข้อ ๑๔. กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก
ข้อ ๑๕. ในกรณีที่กรรมการของมูลนิธิ พ้นจากตำแหน่งถึงคราวออกตามวาระ ให้กรรมการของมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งถึงคราวออกตามวาระปฏิบัติหน้าที่กรรมการของมูลนิธิต่อไปจนกว่ามูลนิธิจะได้รับแจ้งการจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิที่ตั้งใหม่
หมวดที่ ๖
อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ ๑๖. คณะกรรมการมูลนิธิ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของมูลนิธิ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้
๑๖.๑ กำหนดนโยบายของมูลนิธิ และดำเนินการตามนโยบายนั้น
๑๖.๒ ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่างๆ ของมูลนิธิ
๑๖.๓ เสนอรายงานกิจการ รายงานการเงินและบัญชีรายรับ-รายจ่ายต่อนายทะเบียน
๑๖.๔ ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ และวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
๑๖.๔ ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ
๑๖.๖ แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง หรือหลายคณะเพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของมูลนิธิ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ
๑๖.๗ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์
๑๖.๘ เชิญผู้ทรงเกียรติเป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ
๑๖.๙ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ
๑๖.๑๐ แต่งตั้งหรือถอดถอน เจ้าหน้าประจำของมูลนิธิ มติให้ดำเนินการตามข้อ ๑๖.๗ , ๑๖.๘ และ ๑๖.๙ ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุมและที่ปรึกษาตามข้อ ๑๖.๙ ต้องเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิที่เชิญเท่านั้น
ข้อ ๑๗. ประธานกรรมการมูลนิธิ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
๑๗.๑ เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
๑๗.๒ สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
๑๗.๓ เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก หรือการลงลายมือชื่อในเอกสารข้อบังคับและสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของมูลนิธิ เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือกรรมการมูลนิธิผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนได้ ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้
๑๗.๔ ปฏิบัติการอื่นๆ ตามข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ ๑๘. ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน
ข้อ ๑๙. ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานกรรมการมูลนิธิ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในคราวหนึ่งคราวใดได้ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิคนใดคนหนึ่งเป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น
ข้อ ๒๐. เลขานุการมูลนิธิมีหน้าที่ควบคุมกิจการ และดำเนินการประชุมของมูลนิธิติดต่อประสานงานทั่วไป รักษาระเบียบ ข้อบังคับของมูลนิธิ นัดประชุมกรรมการตามคำสั่งของประธานกรรมการมูลนิธิ และทำรายงานประชุมตลอดจนรายงานกิจการของมูลนิธิ
ข้อ ๒๑. เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและเป็นตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
ข้อ ๒๒. สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด โดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน
ข้อ ๒๓. คณะกรรมการของมูลนิธิมีสิทธิเข้าร่วมประชุมกรรมการหรืออนุกรรมการอื่นๆของมูลนิธิได้
หมวดที่ ๗
อนุกรรมการ

ข้อ ๒๔. คณะกรรมการมูลนิธิอาจแต่งตั้งหรือถอดถอนอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม โดยจะแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการประจำหรือเพื่อการใด เป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวก็ได้ และในกรณีที่คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการ เลขานุการหรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้ ก็ให้อนุกรรมการและคณะแต่งตั้งกันเองดำรงตำแหน่งดังกล่าวก็ได้
ข้อ ๒๕. อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้กระทำ ส่วนอนุกรรมการประจำอยู่ในตำแหน่งตามเวลาที่คณะอนุกรรมการมูลนิธิกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง และอนุกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้
๒๕.๑ อนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย
๒๕.๒ อนุกรรมการมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย
หมวดที่ ๘
การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ ๒๖. คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุก ๆ ปี ภายในเดือนมีนาคม และต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๒๗. การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ หรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป แสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทนขอให้มีการประชุม ก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้ สำหรับองค์ประชุมให้ใช้ข้อ ๒๖ บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๒๘. กำหนดการประชุมและองค์ประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นได้ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดไว้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุมให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเองและในส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประชุมให้ใช้ข้อ ๒๖ บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๒๙. ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อย ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ แต่ประธานกรรมการมูลนิธิต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในคราวต่อไป ถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตามมตินั้น กิจการใดเป็นงานประจำหรือกิจการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุจพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ
ข้อ ๓๐. ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ หรือคณะอนุกรรมการ ประธานกรรมการมูลนิธิหรือประธานในที่ประชุมมีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้ บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือผู้สังเกตการณ์ หรือเพื่อชี้แจง หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้
หมวดที่ ๙
การเงิน
ข้อ ๓๑. ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือรองประธานกรรมการมูลนิธิในกรณีทำหน้าที่แทน มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท(สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมาก เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วนให้อยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิที่จะอนุมัติให้จ่ายได้ แล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป
ข้อ ๓๒. เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐.๐๐ บาท(หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)
ข้อ ๓๓. เงินสดของมูลนิธิหรือเอกสารสิทธิ์ ต้องนำฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นใดที่รัฐบาลค้ำประกันหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล แล้วแต่คณะกรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
ข้อ ๓๔. การสั่งจ่ายเงินโดยเช็คจะต้องมีลายมือชื่อของประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทน เลขานุการหรือเหรัญญิกลงนามทุกครั้ง
ข้อ ๓๕. การใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ รวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำสำนักงานให้จ่ายเพียงดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุน เงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบทุนโดยเฉพาะ และรายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ
ข้อ ๓๖. ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน บัญชี และทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการรับและจ่ายเงิน นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
ข้อ ๓๗. ให้คณะกรรมการมูลนิธิจัดทำรายงานสถานะการเงินของมูลนิธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาก เสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสามัญประจำปี
หมวดที่ ๑๐
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของมูลนิธิ

ข้อ ๓๘. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับจะกระทำได้ โดยเฉพาะที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และการอนุมัติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม
หมวดที่ ๑๑
การเลิกมูลนิธิ
ข้อ ๓๙. ถ้ามูลนิธิต้องเลิกล้มไปโดยมติของคณะกรรมการหรือโดยเหตุใดก็ตาม ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิที่เหลืออยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครพนม เขต ๑
ข้อ ๔๐. การสิ้นสุดของมูลนิธินั้นนอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดลงโดยมิต้องให้ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุต่อไปนี้
๔๐.๑ เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว ไม่ได้รับทรัพย์ตามคำมั่นเต็มจำนวน
๔๐.๒ เมื่อกรรมการมูลนิธิจำนวนสองในสามมีมติให้ยกเลิก
๔๐.๓ เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของมูลนิธิ
๔๐.๔ เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด
หมวดที่ ๑๒
เบ็ดเตล็ด

ข้อ ๔๑. การตีความข้อบังคับของมูลนิธิหากเป็นที่สงสัย ให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๔๒. ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับ ในเมื่อข้อบังคับของมูลนิธิไม่ได้กำหนดไว้
ข้อ ๔๓. มูลนิธิต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกันหรือบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง
 

ใบจัดตั้งมูลนิธิ.jpg
ตรามูลนิธิโรงเรียนน่าอยู่.jpg
 

 
มิถุนายน 2568
อา พฤ
1 2 3 4 5 6 7
8 9 10 11 12 13 14
15 16 17 18 19 20 21
22 23 24 25 26 27 28
29 30 1 2 3 4 5
6 7 8 9 10 11 12
วันที่ 13 มิถุนายน 2568
 
ออนไลน์ทั้งหมด 1 คน
หมายเลข IP 18.97.9.170
คุณเข้าชมลำดับที่ 1,147,582
 
มีความคิดเห็นต่อเว็บไซด์มูลนิธิฯ ?
มากที่สุด
มาก
ปานกลาง
น้อย
น้อยที่สุด
 
 
มูลนิธิโรงเรียนน่าอยู่เรียนรู้อย่างมีความสุขจังหวัดนครพนม พ.ศ.๒๕๕๒
333 ถ.อภิบาลบัญชา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม
Tel : 0818727786
Email : narong_chinsan@hotmail.com